“คู่กรรม” วรรณกรรมอมตะ ที่ถูกนำเสนอทั้งในรูปแบบหนังสือ ภาพยนตร์ และละครโทรทัศน์ โดยมีการทำใหม่หลากหลายเวอร์ชั่น และโด่งดังทุกเวอร์ชั่น โดยเฉพาะฉบับของป๋าเบิร์ด ธงไชย แมคอินไตย์ เป็นบทประพันธ์ ที่ประพันธ์โดยคุณทมยันตี ทำให้หวนระลึกถึงและอยากเชิญชวนให้คุณออกเดินทางย้อนเวลาไปในห้วงเวลาสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ลัดเลาะสถานที่สำคัญในบทประพันธ์ สถานที่ที่โกโบริและอังศุมาลินได้พานพบและพลัดพราก
- คลองบางกอกน้อยอังศุมาลิน อาศัยอยู่กับแม่อรและยาย ในบ้านสวนริมคลองบางกอกน้อย เธอได้พบกับโกโบริ นายทหารญี่ปุ่น ขณะที่ว่ายน้ำไปแอบดูอู่ต่อเรือของทหารญี่ปุ่นในละแวกใกล้ ๆ บ้าน
เชื่อกันว่าเดิมทีคลองบางกอกน้อยนี้เป็นส่วนหนึ่งของแม่น้ำเจ้าพระยา ในยุคนั้นชาวบ้านชุมชนริมคลองบางกอกน้อย จะใช้คลองนี้ในการสัญจรหลัก การที่ได้มาล่องเรือผ่านคลองทำให้นึกจินตาการไปว่า ถ้าอังศุมาลินมีตัวตนจริงไม่ใช่มีเพียงแค่ในบทประพันธ์ บ้านของเธอน่าจะอยู่ตรงไหนสักแห่งละแวกนี้
- สถานีรถไฟบางกอกน้อยในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ทหารญี่ปุ่นใช้สถานีรถไฟบางกอกน้อย เป็นที่ตั้งกองกำลัง โดยอาศัยเส้นทางรถไฟสายนี้ในการลำเลียงอาวุธยุทโธปกรณ์ เสบียง และสิ่งของ ไปยังจังหวัดกาญจนบุรี เพื่อสร้างเส้นทางรถไฟเข้าสู่ประเทศพม่า ที่นี่จึงเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ และในท้ายที่สุดก็ถูกโจมตีทางอากาศจนย่อยยับในเวลา 02.30 น. ของวันที่ 29 พฤศจิกายน 2487 ซึ่งในบทประพันธ์ได้กำหนดให้โกโบริต้องจากอังศุมาลินไปตลอดกาลในวันนี้นี่เอง
ปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อเป็น สถานีรถไฟธนบุรี และยังคงเปิดใช้บริการวิ่งไป-กลับ ในเส้นทางมุ่งสู่สถานี ประจวบคีรีขันธ์ หลังสวน น้ำตก ราชบุรี และศาลายา ในบริเวณใกล้เคียงนี้ยังมีโรงรถจักรธนบุรี ซึ่งเป็นสถานีบำรุงรักษา-ซ่อมแซม รถจักรดีเซล และเป็นที่เก็บรักษารถจักรไอน้ำของการรถไฟฯ ที่ยังคงใช้การได้ 5 คัน ใช้สำหรับลากจูงขบวนรถพิเศษในโอกาสสำคัญอีกด้วย
การท่องเที่ยวแบบชิล ๆ เพื่อซึมซับบรรยากาศตามรอยวรรณกรรมอมตะ “คู่กรรม” ทั้ง 2 แห่งภายในวันเดียวนั้นไม่ยากเลย เริ่มจากซื้อทัวร์ล่องเรือท่องเที่ยวคลองบางกอกน้อยที่ท่าช้าง โดยจะมีให้เลือก ทั้งเรือหางยาว เรือบัส และเรือเอี้ยมจุ๊น (สามารถเช็คราคาทัวร์ได้จากหลายบริษัทที่บริเวณท่าเรือ) การเดินทางท่องเที่ยวจะใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงเศษ (ขึ้นอยู่กับแพ็กเก็จและเส้นทางที่เลือก) เมื่อกลับมาถึงท่าช้าง ให้ต่อเรือข้ามฟากไปขึ้นที่ท่าพรานนก สามารถนั่งรถมอเตอร์ไซค์รับจ้างสาธารณะต่อไปที่สถานี หรือจะเดินชิล ๆ เก็บเกี่ยวบรรยากาศระหว่างทางก็ได้ ซึ่งจะใช้เวลาราว 15 นาที โดยเลี้ยวขวาเข้าศิริราชเดินทะลุไป จากนั้นเลี้ยวซ้ายเดินต่อไปก็จะถึงสถานีรถไฟบางกอกน้อย (สถานีธนบุรีในปัจจุบัน)